การพัฒนาพลังงานลมเพื่อผลิตไฟฟ้า





กฟผ. กับการพัฒนาพลังงานลมเพื่อผลิตไฟฟ้า

 
 
 
กังหันลมผลิตไฟฟ้า จ.ภูเก็ต
 
งานศึกษาและทดลองใช้พลังงานลมผลิตไฟฟ้า เป็นส่วนหนึ่งในแผนการพัฒนาพลังงานทดแทน
ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) โดยมีจุดประสงค์เพื่อ
พัฒนาพลังงานลม มาใช้ประโยชน์ในการผลิตกระแสไฟฟ้าเท่าที่สามารถจะทำได้ และเพื่อให้บรรลุถึงวัตถุประสงค์ดังกล่าว กฟผ. ได้ศึกษาและติดตามวิทยาการด้านนี้ทั้งในและต่างประเทศ อีกทั้งได้ทำการสาธิต 
ทดสอบ ตลอดจนติดตั้งกังหันลมขึ้นใช้งาน และเก็บข้อมูลการทดสอบ เพื่อใช้เป็นแนวทางที่จะพัฒนาระบบให้ดีขึ้นและเหมาะสม กับสภาพภูมิอากาศของประเทศไทยต่อไปในอนาคต
   
  
 

กฟผ. กับ การดำเนินโครงการพลังงานลม

 
ในระยะแรก การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับพลังงานลมทั่วประเทศ โดยได้รับความร่วมมือจากกรมอุตุนิยมวิทยา ผลการศึกษาสรุปได้ว่า ความเร็วลมในประเทศไทยโดยเฉลี่ยจัดอยู่ในระดับปานกลาง-ต่ำ คือ ต่ำกว่า 4 เมตร/วินาที โดยส่วนที่ความเร็วลมสูงสุดจะอยู่ในบริเวณชายฝั่งบริเวณเกาะต่าง ๆ ในอ่าวไทยและทางภาคใต้ของประเทศ เมื่อทราบข้อมูลเกี่ยวกับพลังงานลมแล้ว กฟผ. ได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ในการสนับสนุนทุนวิจัยเพื่อออกแบบสร้างกังหันลมขึ้น และนำไปติดตั้งทดลองใช้งาน ผลปรากฏว่ายังมีปัญหาเกี่ยวกับระบบส่งกำลัง และความแข็งแรงของใบกังหัน ขณะเดียวกัน กฟผ. ก็ได้ออกแบบสร้างกังหันลมแบบล้อจักรยาน นำไปติดตั้งทดสอบใช้งานที่ชายฝั่งทะเล บริเวณบ้านอ่าวไผ่ อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี ซึ่งปรากฏว่ายังคงมีปัญหาเรื่องระบบส่งกำลังเช่นกัน
  
 
กังหันลมแบบแกนแนวตั้ง
ที่บ้านอ่าวไผ่ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี
กังหันลมแบบแกนแนวนอน (แบบล้อจักรยาน) 
ที่บ้านอ่าวไผ่ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี
  
  
  
 

กังหันลมผลิตไฟฟ้าที่สถานีพลังงานทดแทนแหลมพรหมเทพ จ.ภูเก็ต

 
ในปี พ.ศ. 2526 การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้เลือกบริเวณแหลมพรหมเทพ จังหวัดภูเก็ต ซึ่งเป็นจุดที่มีข้อมูลบ่งชี้ว่า มีความเร็วลมเฉลี่ยตลอดปี ประมาณ 5 เมตรต่อวินาที เป็นสถานที่ตั้งของสถานีทดลองการผลิตไฟฟ้าจากกังหันลม ใช้ชื่อว่า สถานีพลังงานทดแทนพรหมเทพ โดยตั้งอยู่ทางทิศเหนือของแหลมพรหมเทพ ประมาณ 1 กิโลเมตร
 
 
 
 
 
  
      เหตุผลในการเลือกสถานที่แห่งนี้คือ
  อยู่ติดกับทะเลได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้
     และลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ นับว่าเป็นตำแหน่งที่รับลมได้เกือบทั้งปี
  ได้รับความอนุเคราะห์อย่างดียิ่งจากส่วนราชการ จ.ภูเก็ต ให้ใช้พื้นที่ตลอดมา
  
 
  
 ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2526-2535 การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้เริ่มติดตั้งกังหันลมขนาดเล็กเพื่อทดสอบการใช้งานที่สถานีแห่งนี้ จำนวน 6 ชุด [ดูรายละเอียด คลิกที่นี่] พร้อมทั้งติดตั้งอุปกรณ์บันทึกข้อมูลคือ Digital Data Logger และ Strip Chart Recorder ไว้อย่างครบถ้วน สำหรับไฟฟ้าที่ผลิตได้ก็นำมาใช้ให้แสงสว่างในบริเวณสถานีทดลองฯ โดยใช้กับอุปกรณ์ไฟฟ้าต่าง ๆ จากผลการวิเคราะห์ข้อมูลเบื้องต้นสรุปได้ว่า การใช้กังหันลมผลิตกระแสไฟฟ้าที่บริเวณสถานีพลังงานทดแทนพรหมเทพนี้ มีผลเป็นที่น่าพอใจ แต่ยังคงมีปัญหาเรื่องชิ้นส่วนบางชนิด เช่น ใบกังหัน และตลับลูกปืนชำรุด นอกจากนี้ในบางกรณียังมีปัญหาเรื่องการจัดซื้ออะไหล่จากต่างประเทศอีกด้วย
  
 
ในปี พ.ศ. 2531 การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จึงได้กำหนดแผนงานเชื่อมโยงระบบกังหันลมมาผลิตไฟฟ้า เข้าสู่ระบบจำหน่ายของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ในลักษณะของการใช้งานจริง และเพื่อศึกษาหาประสบการณ์ในการเชื่อมต่อเข้าระบบไปพร้อม ๆ กัน โครงการดังกล่าว ดำเนินไปด้วยดีตามแผนงาน โดยได้รับความร่วมมือจากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และสามารถจ่ายไฟเข้าสู่ระบบได้เมื่อต้นเดือนสิงหาคม พ.ศ.2533 นับเป็นครั้งแรกในประเทศไทย ที่สามารถนำไฟฟ้าจากพลังงานลมมาใช้งานได้โดยเชื่อมโยงเข้ากับระบบจำหน่ายไฟฟ้า จากความสำเร็จในการจ่ายกระแสไฟฟ้าที่กังหันลมผลิตได้ดังกล่าว ในปี พ.ศ. 2535 กฟผ. ได้ติดตั้งกังหันลมขนาดกำลังผลิต 10 กิโลวัตต์ เพิ่มอีก 2 ชุด และเชื่อมโยงเข้ากับระบบจำหน่ายไฟฟ้าเช่นกัน
  
 
 จากประสบการณ์ที่ได้รับจากการติดตั้งกังหันลมผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมากว่า 13 ปี ตลอดจนผลจากการติดตามเทคโนโลยีด้านกังหันลมมาโดยตลอดทำให้ กฟผ. มีความพร้อมที่จะติดตั้งกังหันลมในขนาดที่ใหญ่ขึ้น ดังนั้นในปี พ.ศ. 2539 กฟผ. จึงติดตั้งกังหันลม ขนาดกำลังผลิต 150 กิโลวัตต์ ซึ่งเป็นกังหันลมที่มีขนาดใหญ่ที่สุดที่เคยติดตั้งมาในประเทศไทย รวมทั้งกังหันลมชนิดนี้มีเทคโนโลยีที่เชื่อถือได้สำหรับการผลิตไฟฟ้าในเชิงพาณิชย์ ขณะเดียวกันก็ยกเลิกการใช้งานกังหันลมขนาดเล็กที่ต้องซ่อมบำรุงบ่อยและชำรุดเสียหาย ทำให้มีกำลังผลิตไฟฟ้าจากกังหันลมรวม 170 กิโลวัตต์
   
  
  
บริเวณสถานีพลังงานทดแทนพรหมเทพ จ.ภูเก็ต
  

 

กังหันลมผลิตไฟฟ้าที่ลำตะคอง อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา

 
จากการเก็บสถิติความเร็วลมที่ระดับความสูง 45 เมตร ของ กฟผ. เพื่อตรวจวัดศักยภาพพลังงานลมสำหรับผลิตไฟฟ้าทั่วประเทศมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547 พบว่า ที่บริเวณอ่างพักน้ำตอนบนโรงไฟฟ้าลำตะคองชลภาวัฒนา ตำบลคลองไผ่ อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมาแห่งนี้ มีศักยภาพพลังงานลมดีที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทย มีลมพัดถึง 2 ช่วง คือช่วงฤดูลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ (ระหว่างเดือนพฤศจิกายนถึงปลายเดือนมีนาคม) และลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ (ระหว่างเดือนพฤษภาคม ถึงกลางเดือนตุลาคม) มีความเร็วลมเฉลี่ยทั้งปีประมาณ 5-6 เมตรต่อวินาที ซึ่งสามารถนำมาผลิตไฟฟ้าได้
  
 
การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จึงได้ดำเนินโครงการติดตั้งกังหันลม ขนาดกำลังผลิต 1,250 กิโลวัตต์์ จำนวน 2 ชุด รวมกำลังผลิต 2,500 กิโลวัตต์ ที่บริเวณอ่างพักน้ำตอนบนโรงไฟฟ้าลำตะคองชลภาวัฒนา ตำบลคลองไผ่ อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา ติดตั้งแล้วเสร็จพร้อมทั้งเชื่อมโยงเข้าสู่ระบบการจำหน่ายของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2552 เป็นต้นมา
  
 
   
   
 
สถานที่ติดตั้งกังหันลมอยู่ห่างจากอ่างพักน้ำตอนบนไปทางทิศใต้ ประมาณ 100 เมตร
  

ความคิดเห็น