โครงการร่วมลงทุนที่มีมูลค่าไม่ถึง ๑,๐๐๐ ล้านบาท ทำอย่างไร

หมวดหมู่

นิยาม

กิจการของรัฐ หมายความว่า กิจการที่มีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้

     (๑) กิจการที่ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หน่วยงานอื่นของรัฐ หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยใดหน่วยหนึ่งหรือหลายหน่วยรวมกันมี “อำนาจหน้าที่ต้องทำตามกฎหมาย” คำว่า “กฎหมาย” หมายความรวมถึง กฎ ระเบียบ หรือข้อบังคับที่ให้อำนาจในการดำเนินการที่เอกชนไม่สามารถดำเนินการ ได้เอง โดยไม่ได้รับอนุญาตจากหน่วยงานของรัฐนั้นๆ ให้ดำเนินการแทน
     (๒) กิจการที่จะต้องใช้ “ทรัพยากรธรรมชาติ” ซึ่งหมายความรวมถึง ทรัพยากรธรรมชาติทุกประเภท ที่อยู่ในความครอบครองและการดูแลของหน่วยงานของรัฐและเอกชนไม่สามารถใช้ทรัพยากรธรรมชาตินั้นๆ ได้ หากไม่ได้รับอนุญาตจากหน่วยงานของรัฐ
     (๓) กิจการที่จะต้องใช้ “ทรัพย์สิน”ของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หน่วยงานอื่นของรัฐ หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหน่วยใดหน่วยหนึ่งหรือหลายหน่วยรวมกัน ซึ่งหมายความร่วมถึง ทรัพย์สินที่อยู่ภายใต้ความคุ้มครองจากหน่วยงานของรัฐ ไม่ว่าจะเป็นทรัพย์สินที่มีรูปร่างและไม่มีรูปร่าง
ร่วมลงทุน หมายความว่า ร่วมลงทุนกับเอกชนไม่ว่าโดยวิธีใด หรือมอบให้เอกชนลงทุนแต่ฝ่ายเดียว โดยวิธีการอนุญาต หรือให้สัมปทาน หรือให้สิทธิไม่ว่าในลักษณะใด โดยมีข้อพิจารณาเพิ่มเติมดังต่อไปนี้

     (๑) การร่วมลงทุนกับเอกชน จะต้องมีการอนุญาต หรือให้สัมปทาน หรือให้สิทธิไม่ว่าในลักษณะใด ในการดำเนินกิจการของรัฐ ให้กับเอกชนด้วย ดังนั้น การร่วมลงทุนจัดตั้งบริษัทเพื่อดำเนินธุรกิจปกติทั่วไป โดยไม่มีการอนุญาต หรือให้สัมปทาน หรือให้สิทธิดังกล่าวข้างต้น ไม่เข้าข่ายนิยามคำว่า “ร่วมลงทุน”
     (๒) การอนุญาต หรือให้สัมปทาน หรือให้สิทธิไม่ว่าในลักษณะใด หมายความรวมถึง การอนุญาต หรือให้สัมปทาน หรือให้สิทธิในทุกลักษณะ 
     (๓) หากเอกชนได้รับการอนุญาต หรือให้สัมปทาน หรือให้สิทธิไม่ว่าในลักษณะใด ในการดำเนินกิจการของรัฐ ถือว่าเข้าข่ายตามนิยามคำว่า “ร่วมลงทุน” 
     (๔) ความแตกต่างระหว่างการร่วมลงทุน กับการจ้างเหมาบริการ คือ การร่วมลงทุนต้องมี การอนุญาต หรือให้สัมปทาน หรือให้สิทธิไม่ว่าในลักษณะใดในกิจการของรัฐให้กับเอกชนด้วย ในขณะนี้ การจ้างเหมาบริการจะไม่มีการให้สิทธิในกิจการของรัฐ
     (๕) กรณีที่เป็นกิจการที่เอกชนดำเนินการได้เองอยู่แล้ว โดยไม่ต้องได้รับมอบหมายจากหน่วยงานเจ้าของโครงการ ก็จะไม่ถือเป็นการร่วมลงทุน เช่น กิจการไฟฟ้า กิจการโทรคมนาคม
การเช่าที่ดินราชพัสดุเป็นกิจการที่ต้องใช้ที่ดินราชพัสดุ ซึ่งเป็นทรัพย์สินของหน่วยงานของรัฐ จึงถือเป็น “กิจการของรัฐ” ตามมาตรา ๔ แห่ง พ.ร.บ. ร่วมลงทุนฯ ปี ๒๕๕๖ โดยหากมีการร่วมลงทุน กับเอกชนไม่ว่าโดยวิธีใด หรือมอบให้เอกชนลงทุนแต่ฝ่ายเดียวโดยวิธีอนุญาต หรือให้สัมปทาน หรือให้สิทธิ ไม่ว่าในลักษณะใด ย่อมเข้าข่ายต้องดำเนินการตาม พ.ร.บ. ร่วมลงทุนฯ ปี ๒๕๕๖
การเก็บ ขน หรือกำจัดสิ่งปฏิกูลหรือมูลฝอย เป็นกิจการที่รัฐมีอำนาจหน้าที่ต้องดำเนินการตามกฎหมาย ดังนั้น การจัดการมูลฝอยจึงเป็น “กิจการของรัฐ” ซึ่งหากมีการร่วมลงทุนกับเอกชนไม่ว่าโดยวิธีใดหรือมอบให้เอกชนลงทุนแต่ฝ่ายเดียวโดยวิธีการอนุญาต หรือให้สัมปทาน หรือให้สิทธิไม่ว่าในลักษณะใด ย่อมเข้าข่าย ต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ. ร่วมลงทุนฯ ปี ๒๕๕๖
กรณีหน่วยงานราชการไม่สามารถเข้าร่วมโครงการร่วมลงทุนได้ เนื่องจากไม่มีกฎหมายให้อำนาจหน้าที่ไว้ กรณีดังกล่าวไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับ พ.ร.บ. ร่วมลงทุนฯ ปี ๒๕๕๖ เนื่องจาก พ.ร.บ. ร่วมลงทุนฯ ปี ๒๕๕๖ เป็นเพียงกฎหมายที่กำหนดหลักเกณฑ์และขั้นตอนในการดำเนินการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐเท่านั้น ดังนั้น กรณีดังกล่าวข้างต้นจึงย่อมไม่มีความจำเป็นที่จะต้องพิจารณาการดำเนินการตาม พ.ร.บ. ร่วมลงทุนฯ ปี ๒๕๕๖ แต่อย่างใด
การร่วมทุนระหว่างรัฐกับเอกชน หากเป็นกิจการที่รัฐมีอำนาจหน้าที่ต้องทำตามกฎหมาย หรือกิจการที่จะต้องใช้ทรัพยากรธรรมชาติ หรือทรัพย์สินของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หน่วยงานอื่นของรัฐ หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหน่วยใดหน่วยหนึ่งหรือหลายหน่วยรวมกันตามนิยามคำว่า “กิจการของรัฐ” ซึ่งหากมีการร่วมลงทุนกับเอกชนไม่ว่าโดยวิธีใดหรือมอบให้เอกชนลงทุนแต่ฝ่ายเดียวโดยวิธีการอนุญาต หรือให้สัมปทาน หรือให้สิทธิไม่ว่าในลักษณะใดภายใต้กฎหมายของประเทศไทยแล้ว ต้องดำเนินการให้เป็นไปตาม พ.ร.บ. ร่วมลงทุนฯ ปี ๒๕๕๖ และกฎหมายที่เกี่ยวข้องด้วย
โครงการที่จะต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และขั้นตอนที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.ร่วมลงทุนฯ ปี ๒๕๕๖ มี ๔ กรณี ดังนี้

     ๑) โครงการที่เสนอโครงการตามหมวด ๔ การเสนอโครงการ ตั้งแต่มาตรา ๒๔ เป็นต้นไป
     ๒) โครงการที่มิได้ดำเนินการให้ถูกต้องตามที่กำหนดไว้ในหมวด ๔ การเสนอโครงการ หรือหมวด ๕ การดำเนินโครงการ ตามมาตรา ๖๐ แห่ง พ.ร.บ. ร่วมลงทุนฯ ปี ๒๕๕๖
     ๓) โครงการที่อยู่ระหว่างการดำเนินการตาม พ.ร.บ. ร่วมงานฯ ปี ๒๕๓๕ ตามมาตรา ๖๙แห่ง พ.ร.บ. ร่วมลงทุนฯ ปี ๒๕๕๖
     ๔) โครงการที่ต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และขั้นตอนตาม พ.ร.บ. ร่วมงานฯ ปี ๒๕๓๕ แต่มิได้ดำเนินการหรือดำเนินการไม่ถูกต้องหรือครบถ้วนในขั้นตอนใดโดยยังไม่มีการดำเนินกระบวนการระงับข้อพิพาทตามสัญญาหรือยื่นฟ้องต่อศาล ตามมาตรา ๗๒ แห่ง พ.ร.บ. ร่วมลงทุนฯ ปี ๒๕๕๖
โครงการร่วมลงทุนที่มีมูลค่าไม่ถึง ๑,๐๐๐ ล้านบาท ที่มีสัญญาไว้เดิมก่อน พ.ร.บ. ร่วมลงทุนฯ ปี ๒๕๕๖ มีผลใช้บังคับย่อมไม่เข้าข่ายต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ. ร่วมลงทุนฯ ปี ๒๕๕๖ แต่ต่อมาในระหว่างดำเนินโครงการได้มีการดำเนินการใดๆ ภายใต้เงื่อนไขสัญญาส่งผลให้โครงการมีมูลค่าตั้งแต่ ๑,๐๐๐ ล้านบาทขึ้นไป อันมีผลทำให้โครงการมีมูลค่าตั้งแต่ ๑,๐๐๐ ล้านบาทขึ้นไป หน่วยงานเจ้าของโครงการควรพิจารณาว่า การดำเนินการดังกล่าวอยู่ภายใต้ขอบวัตถุประสงค์ของโครงการ ประกอบกับเป็นการดำเนินการตามเงื่อนไขและข้อกำหนดในสัญญาเดิม และอยู่ภายในขอบเขตของโครงการที่ผู้มีอำนาจในการพิจารณาได้อนุมัติไว้เดิม โดยไม่มีการให้ผลประโยชน์อื่นใดแก่เอกชนเพิ่มเติม หรือขยายระยะเวลาของสัญญาออกไปหรือไม่ หากใช่ ให้ถือว่าคู่สัญญาได้ใช้สิทธิตามข้อสัญญาเดิมและถือเป็นส่วนหนึ่งของโครงการเดิม โดยเมื่อสัญญาดังกล่าวสิ้นสุด และหน่วยงานเจ้าของโครงการประสงค์จะดำเนินโครงการดังกล่าวโดยการให้เอกชนร่วมลงทุนต่อไป ให้หน่วยงานเจ้าของโครงการดำเนินการตาม พ.ร.บ. ร่วมลงทุนฯ ปี ๒๕๕๖ ต่อไป สำหรับกรณีที่หน่วยงานเจ้าของโครงการพิจารณาแล้วเห็นว่า การดำเนินการดังกล่าวไม่เข้าข่ายลักษณะดังกล่าวข้างต้น หน่วยงานเจ้าของโครงการอาจพิจารณาเสนอโครงการใหม่โดยดำเนินการตามพ.ร.บ. ร่วมลงทุนฯ ปี ๒๕๕๖ ต่อไป

ความคิดเห็น